วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หมากเล็บแมว(หนามเล็บแมว,แก้วมือไว)


หมากเล็บ แมว (หนามเล็บแมว,แก้วมือไว)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pterolobium integrum Craib.
ลักษณะนิสัย
ผลัดใบหมดทั้งต้น ออกดอก ติดผลเดือน ก.ค.-ส.ค.ผลสุกเดือน พ.ย.-ธ.ค.
ลักษณะพิเศษของพืช
ลำต้น กิ่ง มีหนามแหลมโค้ง คลุมดินได้ดี ผลสุกกินได้รสหวาน
บริเวณที่พบที่ราบป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขาภาคอีสาน
ภาคเหนือ

หมากต้องแล่ง (ผลไม้อีสาน)



ชื่อที่เรียก

















ต้องแล่ง
ชื่ออื่นๆ
นมน้อย
หมวดหมู่ทรัพยากร
พืช
ลักษณะ
นมน้อยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปขอบขนานหรือรูปวงรี กว้าง 2-4 ซม. ยาว 6-12 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยรูปทรงกลม เมื่อสุกมีสีน้ำตาลแดง เกิดตามที่รกร้างทั่วไป และตามป่าเต็งรังหมากต้องแล่ง ออกลูกเป็นพวง พวงหนึ่งจะมีหลายๆ ลูกประมาณ 4-30ลูก หมากต้องแล่งมีผลเล็ก ทรวดทรงกลม โตประมาณ5-6 ม.ม. ผลดิบสีเขียว ผลสุก สีแดง
ผลสุกรสชาติหวาน ซึ่งในหนึ่งลูกจะมีเนื้อให้กินหวานอร่อยจริงๆ นิดเดียว ที่เหลือ คือเมล็ด หนึ่งลูกจะมีหนึ่งเมล็ด โดยปกติ ไม่นิยมกินเมล็ด แต่บางคน ก็เคี้ยวกินทั้งเมล็ดก็มี
ประโยชน์
ราก ต้มน้ำดื่มแก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง บำรุงน้ำนม 
แหล่งที่พบ
ป่าชุมชนบ้านโนนหิน
ตำบล
-
อำเภอ
ป่าติ้ว
จังหวัด
ยโสธร


มารู้จักผลไม้ของอีสานกัน (หมากผีผวน)

ชื่อท้องถิ่น:หมากผีผ่วน

ชื่อสามัญ:นมแมว(ภาษากลาง) นมวัว (พิษณุโลก กระบี่) พีพวน (อุดร) บุหงาใหญ่(ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Uvaria rufa Bl.
ชื่อวงศ์: Annonaceae
ลักษณะวิสัย/ประเภท:ไม้เถา
การใช้ประโยชน์/ส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์:แก่นและราก ต้มดื่ม แก้ไข้ซ้ำ ไข้กลับ เนื่องจากกินของแสลง ราก แก้ผอมแห้งแรงน้อย สำหรับสตรี ที่อยู่ไฟไม่ได้หลังคลอดบุตรและช่วยบำรุงน้ำนม ผล ตำผสมกับน้ำ ทาแก้เม็ดผดผื่นคัน

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พิธีมงคลต่างๆ

     
  • พิธีมงคลโกนจุก

พิธีมงคลโกนจุก คือพิธีตัดจุกของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ให้ไว้จุกมาตั้งแต่ทำพิธีโกนผมไฟ การประกอบพิธีมงคลโกนจุกทำกันเมื่อเด็กชายมีอายุ 13 ปี ถ้าเป็นเด็กหญิงก็มีอายุ 11 ปี การตระเตรียมงาน คือนำวันเดือนปีของเด็กไปให้โหยผูกดวง กำหนดฤกษ์ที่จะประกอบพิธี กำหนดงานไว้ 2 วัน คือนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ตอนเย็นและฉันอาหารตอนเช้า การโกนจุกทำกันในตอนเช้าของวันที่ 2 พิธีที่ทำในวันแรก วันแรกเริ่มประกอบพิธีในตอนเย็นโดยเจ้าภาพจัดแจงโกนผมเด็กรอบจุก อาบน้ำแต่งตัวและเกล้าจุกไว้ให้เรียบร้อย ปักด้วยปิ่น หรือสวมพวงมาลัยไว้เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว ก็นำเด็กมานั่งต่อหน้าพระสงฆ์ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ ข้างหน้าเด็กมีโต๊ะสำหรับรองพานเครื่องตัดจุก เตรียมจับด้ายสายสิญจน์ทำเป็นวงกลมสวมลงพอเหมาะแก่จุกของเด็ก เมื่อพระเริ่มสวดพระพุทธมนต์ก็ให้สวมลงไป และสายสิญจน์ที่พระจับสวดมนต์มาคล้องศีรษะเด็ก และเอาออกมาเมื่อพระสวดจบแล้ว พิณพาทย์ประโคม ลั่นฆ้องและโห่ร้องเอาชัยเป็นการเสร็จพิธีตอนเย็นวันแรก รุ่งขึ้นให้เด็กแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว แบ่งจุกของเด็กออกเป็น 3 ปอย เอาแหวนนพเก้าสวมปอยละ 1 วง แซมด้วยใบเงินใบทองและหญ้าแพรก เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้วก็ให้เด็กไปนั่งเบื้องหน้า พอได้ฤกษ์โหรลั่นฆ้องขึ้น 3 ครั้ง โห่ร้องเอาชัย พระสงฆ์สวดชยันโต พิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย พอพระสงฆ์สวดถึงบทที่ว่า สีเส ปฐวิโปก ขเร ผู้เป็นประธานก็เริ่มตัดจุกปอยแรกทันที ส่วนจุกปอยที่ 2-3 ให้ผู้มีอายุโสรอง ๆ ลงไปเป็นผู้ตัด พราหมณ์เป่าสังข์ ดีดบัณเฑาะว์ เสร็จแล้วให้ช่างโกนผมให้เกลี้ยง และในขณะทำพิธี ตอนนี้เอาด้ายสายสิญจน์ที่พระถือสวดชยันโตมาวงล้อมเด็ก และผู้เข้าร่วมกลุ่มทำพิธีไว้ด้วย เมื่อโกนผมเด็กเรียบร้อยแล้ว ให้นั่งในที่อันควร อาบน้ำมนต์ ให้ศีลให้พร แล้วให้ไปนั่งต่อหน้าพระสงฆ์ เจ้าภาพถวายอาหารบิณฑบาต พระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็เป็นเสร็จพิธี ส่วนผมของจุกที่ตัดนั้น จะทำพิธีทำขวัญจุกในตอนเย็นอีกก็ได้ การทำขวัญจุกต้องเตรียมเครื่องบายศรี มีมะพร้าวอ่อน 1 ผล กล้วยน้ำว้า 1 หวี ขนมแดง ขนมขาว ขันใส่ข้าวสารสำหรับปักแว่นเทียน เมื่อได้ฤกษ์ก็ให้เด็กนั่งหน้าเครื่องบายศรี มีญาติมิตรห้อมล้อม ผู้ทำพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำอัญเชิญขวัญแล้ว เอาด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือเด็กข้างละ 3 เส้น ลั่นฆ้องชัยและเวียนเทียนจากเบื้องซ้ายมาเบื้องขวาครบ 7 ครั้ง ดับเทียนโบกควันแล้วเจิมหน้าด้วยแป้งกระแจะ เอาน้ำมะพร้าวอ่อนกับไข่ขวัญให้เด็กกิน 3 ครั้ง แล้วิปิดบายศรีตีฆ้องและโห่ร้องเอาชัย พิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย เมื่อมีการอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้วก็เสร็จพิธี ส่วนจุกนั้นให้ใส่กระทงบายศรีลอยไปในแม่น้ำเสีย
  • พิธีมงคลทำบุญขึ้นบ้านใหม่

ในพิธีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่นั้น ถ้าเจ้าบ้านมีความประสงค์ที่จะประกอบพิธีตามทางศาสนา และมีการเชิญแขกให้มาร่วมด้วยก็มีหลักที่จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ต้องกำหนดวันการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ให้เป็นที่แน่นอนและการเลือกวันที่ว่านี้ ถ้าต้องการให้เป็นมงคลตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณแล้ว ก็พึงไปหารือกับผู้ที่มีความรู้ทางโหราศาสตร์ให้กำหนดวันและเวลาให้

2. ออกบัตรเชิญแขกให้มาร่วมในพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และส่งบัตรนั้นออกไปในระยะเวลาก่อนถึงวันกำหนดพอสมควร ในบัตรนั้น ต้องบอกตำบลบ้านที่จะประกอบพิธี กำหนดวัน เวลาอย่างชัดเจน

3. เมื่อใกล้กับวันที่กำหนดไว้ ต้องเตรียมตกแต่งบ้านเรือนที่จะทำบุญ ขึ้นบ้านใหม่นั้นให้เรียบร้อยงามตาตามสมควร

4. เตรียมส่งของที่จำเป็นใช้ในวันประกอบพิธีให้พร้อมเช่น พระพุทธรูป ขันน้ำพระพุทธมนต์ ใบไม่ที่จะใช้สำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ อาสนะสำหรับปูรองรับพระสงฆ์ และอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้รอบรู้ในการประกอบพิธีนี้

5. เตรียมด้วยสำหรับทำสายสิญจน์ บาตรน้ำมนต์และอื่น ๆ
6. ถ้าต้องการให้มีการยกศาลพระภูมิในวันนั้นด้วย ก็ต้องเชิญผุ้มีความรู้ในทางนี้มาเป็นผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีในวันนั้นด้วย

7. ควรเตรียมต้อนรับรองแขกให้พร้อม และมีการนัดหมายกับผู้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกให้เป็นที่เข้าใจว่าใครมีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างไร

8. ถ้ามีการเลี้ยงอาหารแขกด้วย ก็ต้องเตรียมห้องอาหารและอาหารให้พร้อม ข้อที่ผู้ไปร่วมงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่พึงปฏิบัติ มีดังนี้คือ

1. ผู้เป็นแขกต้องแต่งกายให้เรียบร้อยตามสมควร
    หรืออาจจะแต่งกายตามประเพณีของพื้นบ้านที่อยู่นั้นได้
2. พึงไปยังบ้านที่มีการประกอบพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก่อนเวลาที่กำหนด
    ไว้สักเล็กน้อยเพื่อป้องการรอคอยของเจ้าของบ้านผู้เชิญเรา
3. ควรหาของขวัญไปกำนัลแด่เจ้าภาพตามสมควร
4. ผู้เป็นแขกไม่พึงวิจารณ์บ้านใหม่ของเจ้าภาพให้เป็นไปในทางไม่เหมาะสม
   เพราะจะทำให้เจ้าบ้านเกิดความไม่พอใจต่อบ้านของตนขึ้นมา และไม่เป็นสุข
   ในเมื่อทราบว่าบ้านของตนไม่เหมาะสมตามที่แขกกล่าววิจารณ์
5. เมื่อเสร็จพิธี และถ้ามีการรับประทานอาหารแล้ว ผู้เป็นแขกต้อง
   อยู่สังสรรค์สนทนากับเจ้าของบ้านในเวลาพอสมควร
6. ก่อนลากลับ ควรมีการอวยพร และแสดงความปรารถนาให้เขาอยู่บ้านใหม่ด้วยความสุข
  • พิธีมงคลโกนผมไฟ

พิธีมงคลโกนผมไฟ ทำเมื่อเด็กมีอายุครบ 1 เดือน ส่วนมากมักทำรวมกันกับพิธีมงคลทำขวัญเดือน เป็นพิธีที่เอิกเกริกขึ้น เพราะมีการประกอบพิธีทั้งทางพราหมณ์และทางพิธีสงฆ์ การเตรียมการก็มีการบอกกล่าวไปยังญาติพี่น้อง และผู้ที่เคารพนับถือจะทำพิธีมงคลโกนผมไฟเด็ก ตกแต่งบ้านเรือนที่จะใช้ประกอบพิธี นิมนต์พระสงฆ์ไว้ให้พร้อม และเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธี กับเตรียมเครื่องบายศรี เครื่องกระยาบวด และแป้งกระแจะ ตลอดจนเครื่องใช้อื่น ๆ ตามที่พราหมณ์จะกำหนดให้เตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาก็นำเด็กมานานหันหัวไป ตามที่ที่โหรกำหนด ให้ผู้เป็นประธานกล่าวจุดธูปเทียนและกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และกล่าวคำอัญเชิญเทวดา เมื่อได้ฤกษ์ที่กำหนดไว้โหรก็ลั่นฆ้องชัย ผู้เป็นประธานหลั่งน้ำสังข์ลงบนศีรษะเด็ก และเอามีดโกนมาแตะผมเด็กพอเป็นพิธี ในระหว่างนี้พระสงฆ์สวดชยันโต พราหมณ์เป่าสังข์และดีดบัณเฑาะว์ พิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย มีการให้ศีลให้พรแล้วให้ช่างมาโกนผมไฟออกให้หมด นำเด็กไปอาบน้ำในอ่างน้ำอุ่นที่เจือน้ำพระพุทธมนต์ แล้วนำมาวางไว้บนเบาะข้างเครื่องบายศรี ในตอนนี้มีการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ พระท่านอนุโมทนาแล้วลากกลับ ต่อจากนั้นก็เอาเด็กไปประกอบพิธีลงเปล ก็เป็นอันเสร็จพิธี
  • พิธีทอดกฐิน

พิธีทอดกฐิน คือการจัดหาผ้าไตรจีวรไปถวายพระภิกษุสงฆ์ จัดเป็นการทำบุญยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ที่วัดหนึ่งมีการรับผ้ากฐิน ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และกำหนดการทอดผ้ากฐินก็ทำได้ระหว่างวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คือชั่วระยะเวลา 1 เดือน ผู้ที่จะทำการทอดกฐิน ต้องไปจองกฐินที่วัดหนึ่งวัดใดเสียก่อน โดยไปกราบเรียนท่านเจ้าอาวาสว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐินที่วัดของท่าน เมื่อท่านยินยอมแล้วก็เขียนประกาศปิดไว้ ณ วัดนั้นเพื่อให้รู้ทั่วกัน คนอื่นจะมาจองซ้ำ หรือทอดซ้ำไม่ได้ ถ้าเป็นวัดหลวง ผู้ที่จะทอดกฐินจะต้องทำหนังสือต่อสังฆการีกรมศาสนา ของเป็นกฐินพระราชทาน ครั้นคำอนุญาตตกไปแล้วจึงจะจองได้ ทั้งนี้เป็นเพราะวัดหลวงนั้นเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชทานมาทอดให้ เว้นไว้แต่ผู้ใดจะขอพระราชทานทอดแทนพระองค์ท่านเสียเท่านั้น เมื่อได้กำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็มีการเตรียมผ้ากฐิน มีเครื่องไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ถ้าประกอบกอบเป็นพิธีใหญ่ก็มีการตั้งองค์พระกฐินฉลองกันอย่างครึกครื้น เวลาไปทอดก็จัดขบวนแห่แหนกันไปยังวัดนั้น ทางเจ้าอาวาสก็ประชุมสงฆ์ในพระอุโบสถ เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธานกล่าวนโม 3 จบ แล้วหันมาทางพระสงฆ์กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคี คือ ร่วมกันหลายคนก็เอาด้ายสายสิญจน์ผู้โยงไปถึงทุกคนโดยทั่วหน้ากล่าวนำว่าคำถวาย เมื่อครบ 3 จบแล้ว พระสงฆ์จะรับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้ากฐิน แก่ภิกษุสงฆ์ผู้อาวุโสแล้วที่ประชุมสงฆ์จะตกลงมอบให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้รับไปครอง ต่อจากนั้นก็มีการถวายเครื่องบริขารอื่น ๆ เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาเจ้าภาพกรวดน้ำแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี

การละเล่นพื้นบ้าน



เล่นซ่อนหา หรือ โป้งแปะ

           "เล่นซ่อนหา" หรือ "โป้งแปะ" เป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน และยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะกติกาง่าย แถมสนุก และต้องมีการกำหนดอาณาเขต เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป จนถึงวันนี้ก็ยังมีเด็ก ๆ จับกลุ่มกันเล่นซ่อนหาให้เห็นกันอยู่
           โดยกติกาก็คือ คนที่เป็น "ผู้หา" ต้องปิดตา และให้เพื่อน ๆ ไปหลบหาที่ซ่อน โดยอาจจะนับเลขก็ได้ ส่วน "ผู้ซ่อน" ในสมัยก่อนจะต้องร้องว่า "ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว" แล้วแยกย้ายกันไปซ่อน เมื่อ "ผู้หา" คาดคะเนว่าทุกคนซ่อนตัวหมดแล้ว จะร้องถามว่า "เอาหรือยัง" ซึ่งเมื่อ "ผู้ซ่อน" ตอบว่า "เอาล่ะ" "ผู้หา" ก็จะเปิดตาและหาเพื่อน ๆ ตามจุดต่าง ๆ เมื่อหาพบจะพูดว่า "โป้ง..(ตามด้วยชื่อผู้ที่พบ)" ซึ่งสามารถ "โป้ง" คนที่เห็นในระยะไกลได้ จากนั้น "ผู้หา" จะหาไปเรื่อย ๆ จนครบ ผู้ที่ถูกหาพบคนแรกจะต้องมาเปลี่ยนมาเป็น "ผู้หา" แทน แต่หากใครซ่อนเก่ง "ผู้หา" หาอย่างไรก็ไม่เจอสักที "ผู้ซ่อน" คนที่ยังไม่ถูกพบสามารถเข้ามาแตะตัว "ผู้หา" พร้อมกับร้องว่า "แปะ" เพื่อให้ "ผู้หา" เป็นต่ออีกรอบหนึ่งได้

           ประโยชน์จากการเล่นซ่อนหา ก็คือ ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต สามารถจับทิศทางของเสียงได้ รวมทั้งรู้จักประเมินสถานที่ซ่อนตัว จึงฝึกความรอบคอบได้อีกทาง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เล่นสนุกสนาน อารมณ์แจ่มใจเบิกบานไปด้วย

หมากเก็บ

           การละเล่นยอดฮิตสำหรับเด็กผู้หญิงนั่นเอง ปกติจะใช้ผู้เล่น 2-4 คน และใช้ก้อนกรวดกลม ๆ 5 ก้อนเป็นอุปกรณ์

           กติกาก็คือ ต้องมีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เล่นก่อน โดยใช้วิธี "ขึ้นร้าน" คือแบมือถือหมากทั้ง 5 เม็ดไว้ แล้วโยนหมาก ก่อนจะหงายมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับหมากอีกที ใครมีหมากอยู่บนมือมากที่สุด คนนั้นจะได้เป็นผู้เล่นก่อน

           จากนั้นจะแบ่งการเล่นเป็น 5 หมาก โดยหมากที่ 1 ทอดหมากให้อยู่ห่าง ๆ กัน แล้วเลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ก่อนจะไล่เก็บหมากที่เหลือ โดยการโยนเม็ดนำขึ้น พร้อมเก็บหมากครั้งละเม็ด และต้องรับลูกที่โยนขึ้นให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า "ตาย" หรือถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นก็ถือว่า "ตาย" เช่นกัน

           ในหมากที่ 2 ก็ใช้วิธีการเดียวกัน แต่เก็บทีละ 2 เม็ด เช่นเดียวกับหมากที่ 3 ใช้เก็บทีละ 3 เม็ด ส่วนหมากที่ 4 จะไม่ทอดหมาก แต่จะใช้ "โปะ" คือถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้ "ขึ้นร้าน" ได้กี่เม็ดถือเป็นแต้มของผู้เล่นคนนั้น ถ้าไม่ได้ถือว่า "ตาย" แล้วให้คนอื่นเล่นต่อไป โดย "ตาย" หมากไหนก็เริ่มที่หมากนั้น ปกติการเล่นหมากเก็บจะกำหนดไว้ที่ 50-100 แต้ม ดังนั้นเมื่อแต้มใกล้ครบ เวลาขึ้นร้านต้องระวังไม่ให้แต้มเกิน ถ้าเกินต้องเริ่มต้นใหม่

           อย่างไรก็ตาม ปกติแล้ว "หมากเก็บ" มีวิธีเล่นหลายอย่าง แต่ละอย่างก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น หมากพวง , หมากจุ๊บ ,อีกาเข้ารัง


รีรีข้าวสาร

           เชื่อเลยว่า ชีวิตในวัยเด็กของคนส่วนใหญ่ผ่านการละเล่น "รีรีข้าวสาร" มาแล้ว และยังร้องบทร้องคุ้นหูที่ว่า "รีรี ข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว" ได้ด้วย

           กติกา รีรีข้าวสาร ก็คือ ต้องมีผู้เล่น 2 คนหันหน้าเข้าหากัน และเอามือประสานกันไว้เป็นรูปซุ้ม ส่วนผู้เล่นคนอื่น ๆ จะกี่คนก็ได้จะยืนเกาะเอวกันไว้ตามลำดับ หัวแถวจะพาขบวนลอดซุ้มพร้อมร้องเพลง "รีรีข้าวสาร" จนเมื่อถึงประโยคที่ว่า "คอยพานคนข้างหลังไว้" ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันไม่ให้คนสุดท้ายผ่านเข้าไป เรียกว่า "คัดคน" และเล่นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนคนหมด

           ประโยชน์ของการเล่นรีรีข้าวสาร ก็คือ ช่วยให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส รู้จักมีไหวพริบ ใช้กลยุทธ์ให้ตัวเองเอาตัวรอดจากการถูกคล้องไว้ได้ รวมทั้งฝึกให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มได้ด้วย


มอญซ่อนผ้า

           การละเล่นแสนสนุกที่ทำให้ผู้เล่นได้ลุ้นไปด้วย โดยใช้อุปกรณ์เพียงแค่ผ้าผืนเดียวเท่านั้น แล้วให้ผู้เล่นเสี่ยงทาย ใครแพ้คนนั้นต้องเป็น "มอญ" ส่วนคนอื่น ๆ มานั่งล้อมวง คนที่เป็น "มอญ" จะต้องถือผ้าไว้ในมือแล้วเดินวนอยู่นอกวง จากนั้นคนนั่งในวงจะร้องเพลงว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ"

           ระหว่างเพลงร้องอยู่ คนที่เป็น "มอญ" จะแอบทิ้งผ้าไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อทิ้งผ้าแล้ว จะแกล้งทำเป็นยังไม่ทิ้ง โดยเดินวนไปอีก 1 รอบ หากผู้ที่ถูกทิ้งผ้าไม่รู้ตัว "มอญ" จะหยิบผ้ามาตีหลังผู้เล่นคนนั้น แล้วต้องกลายเป็น "มอญ" แทน แต่หากผู้เล่นรู้ตัวว่ามีผ้าอยู่ข้างหลัง ก็จะหยิบผ้ามาวิ่งไล่ตี "มอญ" รอบวง "มอญ" ต้องรีบกลับมานั่งแทนที่ผู้เล่นคนนั้น แล้วผู้ที่วิ่งไล่ต้องเปลี่ยนเป็น "มอญ" แทน


เดินกะลา

           ดูจะเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่หาดูได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเป็นสมัยก่อนจะเห็นเด็ก ๆ เดินกะลา กันทั่วไป โดยผู้เล่นจะต้องนำกะลามะพร้าว 2 อันมาทำความสะอาดแล้วเจาะรูตรงกลาง ร้อยเชือกให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้เชือกหลุดเวลาเดิน เวลาเดินให้ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบเชือกเอาไว้แล้วเดิน หากมีเด็ก ๆ หลายคนอาจจัดแข่ง เดินกะลา ได้ด้วยการกำหนดเส้นชัยไว้ใครเดินถึงก่อนก็เป็นผู้ชนะไป

           ประโยชน์ของการ เดินกะลา ก็คือช่วยฝึกการทรงตัว ความสมดุลของร่างกาย เพราะต้องระวังไม่ให้ตกกะลา ช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกเจ็บเท้า แต่ถ้าฝึกบ่อย ๆ จะชินและหายเจ็บไปเอง แถมยังทำให้ร่างกายแข็งแรง เพลิดเพลินอีกด้วย


กาฟักไข่

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่เคยได้ยินชื่อ แต่หลายคนไม่ทราบกติกา โดยวิธีการเล่นก็คือ ใช้อะไรก็ได้ลักษณะกลม ๆ เท่าจำนวนคนเล่น ยกเว้นผู้ที่เป็นกา 1 คน มาสมมติว่าเป็น "ไข่" แล้วเขียนวงกลมลงบนพื้น 2 วง วงแรกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ฟุต และอีกวงหนึ่งอยู่ข้างในวงแรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต วาง "ไข่" ทั้งหมดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่งเป็นกา ยืนในวงกลมวงใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมวงใหญ่ คอยแย่งไข่ คนเป็นกามีหน้าที่ป้องกันไข่ ไม่ให้ถูกแย่งไป

           กติกาของ กาฟักไข่ ก็คือคนข้างนอกต้องแย่งไข่มาให้ได้ โดยใช้แขนหรือมือเอื้อมเข้าไป แต่ห้ามนำตัวเข้าไปในวงกลม และต้องระวังไม่ให้อีกาถูกมือหรือแขนได้ด้วย หากแย่งไข่ออกมาได้หมดแล้ว ให้ปิดตากา แล้วนำไข่ทั้งหมดไปซ่อน เพื่อให้กาตามหาไข่ หากพบไข่ที่ผู้เล่นคนใดนำไปซ่อน ผู้นั้นจะต้องเปลี่ยนมาเป็นกาแทน


งูกินหาง

           "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน..." ประโยคคุ้น ๆ ให้การเล่น งูกินหาง ที่ยังติดตรึงในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน และเป็นที่นิยมของเด็กในทุกเทศกาล ทุกโอกาสอีกด้วย

           วิธีการเล่นงูกินหาง เริ่มจากเสี่ยงทาย ใครแพ้ต้องไปเป็น "พ่องู" ส่วนผู้ชนะที่มีร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่จะเป็น "แม่งู" ไว้คอยปกป้องเพื่อน ๆ คนอื่นที่เป็น "ลูกงู" จากนั้น "ลูกงู" จะเกาะเอวแม่งูและต่อแถวกันไว้ ยืนเผชิญหน้ากับ "พ่องู" จากนั้นจะเข้าสู่บทร้อง โดยพ่องูจะถามว่า

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" (พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา)

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           จากนั้นพ่องูจะพูดว่า "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว" แล้ววิ่งไล่จับลูกงูที่กอดเอวอยู่ ส่วนแม่งูก็ต้องป้องกันไม่ให้พ่องูจับลูกงูไปได้ เมื่อลูกงูคนไหนถูกจับ จะออกจากแถวมายืนอยู่ด้านนอก เพื่อรอเล่นรอบต่อไป หากพ่องูแย่งลูกได้หมด จะถือว่าจบเกมแล้วเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูจะกลับไปเป็นแม่งูต่อในรอบต่อไป

           ประโยชน์ของการเล่นงูกินหาง ก็คือ ทำให้ผู้เล่นเกิดความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือกัน และรู้จักการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด เมื่อภัยมาถึงตัว นอกจากนี้ยังฝึกร่างกายให้แข็งแรง และจิตใจเบิกบานสนุกสนานไปด้วย


ม้าก้านกล้วย

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่แสดงถึงความมีภูมิปัญญาของคนไทยทีเดียว เพราะในสมัยก่อนแทบทุกบ้านจะปลูกต้นกล้วยไว้ทั้งนั้น ดังนั้น ต้นกล้วยจึงนำมาประยุกต์เป็นของเล่นให้เด็ก ๆ ได้อย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะ ม้าก้านกล้วย ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจเด็กชายวัยซนมากที่สุด เพราะเด็ก ๆ จะนำก้านกล้วยมาขี่เป็นม้า เพื่อแข่งขันกัน หรือทำเป็นดาบรบกันก็ได้

           วิธีทำม้าก้านกล้วย ก็ไม่ยาก เลือกตัดใบกล้วยออกมาแล้วเอามีดเลาะใบกล้วยออก แต่เหลือไว้ที่ปลายเล็กน้อยให้เป็นหางม้า เอามีดฝานแฉลบด้านข้างก้านกล้วยตรงโคนบาง ๆ เพื่อทำเป็นหูม้า แล้วหักก้านกล้วยตรงโคนหูม้าออก จากนั้นก็นำแขนงไม้ไผ่มาเสี้ยมปลายให้แหลม ความยาวประมาณคืบกว่า ๆ เสียบหัวม้าที่พับเอาไว้จนทะลุไปถึงก้าน เพื่อให้เป็นสายบังเหียนผูกปากกับคอม้านั่นเอง เสร็จแล้วก็นำเชือกกล้วยมาผูกด้านหัวม้าและหางม้า ทำเป็นสายสะพายบ่า แค่นี้ก็ได้ม้าก้านกล้วยไปสนุกกับเพื่อน ๆ แล้ว

ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่

ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่   
  อีสานมีการนับถือประเพณีอย่างเคร่งครัดมาแต่ครั้งโบราณ และเป็นประเพณีของท้องถิ่นสืบมาหลายร้อยปี เรื่องฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ เป็นเรื่องทางศาสนา จึงน่าจะนับถือกันมาตั้งแต่ครั้งวัฒนธรรมอินเดียเข้าสู่บริเวณนี้แล้ว เรียกสั้นๆว่า ฮีต-คลอง หรือถ้าจะเรียกให้เป็นแบบชาวบ้านแท้ก็ว่า" เปิงบ้านเปิงเมือง" เรื่องฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่นี้ มีผู้สูงอายุหลายท่านกล่าวไว้คล้ายๆกัน จะต่างบ้างก็เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะครั้งโบราณด้านหนังสือยังไม่เจริญ อาศัยการบอกเล่าจดจำกันมาเป็นส่วนใหญ่ ที่เขียนไว้นั้นเป็นส่วนน้อย
                                                                                        ฮีตสิบสอง
     "ฮีต" คงเป็นคำย่อของ "จารีต" เพราะอีสานใช้ "ฮ" แทน "ร" ฮีตสิบสองก็คือ จารีตที่ปฏิบัติกันในแต่ละเดือน ตรงกับทางภาคกลางว่าประเพณี 12 เดือนนั่นเอง ในสมัยโบราณเขาถือเอาเดือนอ้ายเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ (เดือนเจียงก็เรียก) แล้ววนไปจนถึงเดือน 12 เป็นเดือนสุดท้าย ในแต่ละเดือนมีประเพณีประจำเดือน ประเพณีเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นก็พยายามดึงเข้าพุทธ เพื่อให้ได้โอกาสทำบุญด้วย คือ
     เดือนอ้าย เป็นระยะอากาศหนาวชาวบ้านจะจัดสถานที่แล้วนิมนต์พระสงฆ์เข้ากรรม การเข้ากรรมของพระนั้นคือการเข้าอยู่ประพฤติวัตรโดยเคร่งครัดชั่วระยะหนึ่ง ในป่าหรือป่าช้า การอยู่กรรมเรียกตามบาลีว่า"ปริวาส" เพื่อชำระจิตใจที่มัวหมองปลดเปลืองอาบัติ สังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติหนักเป็นที่ 2 รองจากปาราชิก ฝ่ายชาวบ้านก็ได้ทำบุญในโอกาสนั้นด้วย
    "เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมุ่สังฆเจ้าเตรียมเข้าอยู่กรรม"
     เดือนยี่ ทำบุญคูณลาน คือเก็บเกี่ยวแล้ว ขนข้าวขึ้นสู่ลาน นวดข้าวแล้ทำข้าวเปลือกให้เป็นกองสูงเหมือนจอมปลวก เรียกว่า "กุ้มเข้า" เหมือนก่อเจดีย์ทรายนั่นเอง แล้วทำพิธีบวงสรวงเจ้าแม่โภสพ นิมนต์มาสวดมนต์ทำบุญลาน บางคนก็เทศน์เรื่องนางโภสพฉลอง บางคนก็มีพิธีสู่ขวัญข้าวก่อนจึงจะขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง เสร็จแล้วก็ทำพิธีเลี้ยงเจ้าที่หรือตาแฮก และเก็บฟืนไว้เพื่อหุงต้มอาหารต่อไป
    "พอเมื่อเดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้"
     เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ วันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันมาฆบูชา รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำก็ถวายข้าวจี่ เรียกว่าวันทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชานั่นเอง ข้าวจี่คือเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ (ชาวบ้านเรียกหัวแจก) นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน มีคำพังเพยอีสานว่า
     "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา"
เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือมีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้าเล็กน้อยเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้ง
      "เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันทำเข้าจี่ ไปถวายสงฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ"
     เดือนสี่ ทำบุญมหาชาติ ทุกวัดพอถึงเดือน 4 ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ชาวอีสานนิยมเรียกว่า "บุญผเวส" (พระเวสสันดร) มีคำพังเพยว่า
     "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี)"
     แต่การกำหนดเวลาก็ไม่ถือเด็ดขาด อาจจะเป็นปลายเดือนสาม หรือต้นเดือนห้าก็ได้ การเทศน์มหาชาติของอีสานผิดจากภาคกลางหลายอย่างเช่น การนิมนต์เขาจะนิมนต์พระวัดต่างๆ 10-20 วัดมาเทศน์ โดยแบ่งคัมภีร์ออกได้ถึง 30-40 กัณฑ์ เทศน์ตั้งแต่เช้ามืดและให้จบในวันเดียว พระในวัดถ้ามีมากก็จะเทศน์รูปละกัณฑ์สองกัณฑ์ ถ้าพระน้อยอาจจะเทศน์ถึง 5 กัณฑ์ การแบ่งซอยให้เทศน์หลายๆ กัณฑ์ก็เพื่อให้ครบกับจำนวนหลังคาบ้าน ถ้าหมู่บ้านนี้มี 80 หลังคาเรือน ก็อาจจะแบ่งเป็น 80 กัณฑ์ โดยรวมเอาเทศน์คาถาฟันมาลัยหมื่น มาลัยแสน ฉลองมหาชาติด้วยเพื่อให้ครบจำนวนโยมผู้เป็นเจ้าของกัณฑ์ แต่บางบ้านอาจจะขอรวมกับบ้านอื่นเป็นกัณฑ์เดียวกันก็ได้ และเวลาพระเทศน์ก็จะมีกัณฑ์หลอนมาถวายพิเศษอีกด้วย คือหมู่บ้านใกล้เคียงจะรวบรวมกัณฑ์หลอนคล้ายผ้าป่าสมัยนี้ แห่เป็นขบวนกันมา มีปี่ มีกลองก็บรรเลงกันมา ใครจะรำจะฟ้อนก็เชิญ แห่รอบศาลาการเปรียญ 3 รอบ แล้วก็นำไปถวายพระรูปที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้นเลย เรียกว่ากัณฑ์หลอนเพราะมาไม่บอก มาโดนใครก็ถวายรูปนั้นไปเลย เรื่องกัณฑ์หลอนนับเป็นประเพณีผูกไมตรีระหว่างหมู่บ้านได้ยิ่งดี เพราะเรามีเทศน์เขาก็เอากัณฑ์หลอนมาร่วม เขามีเราก็เอาไปร่วมเป็นการสนองมิตรจิตมิตรใจซึ่งกันและกันได้ทั้งบุญได้ ทั้งมิตรภาพ ได้ทั้งความสนุกเฮฮา รำเซิ้ง แม้แต่ในหมู่บ้านนั้นเองก็มีกลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มคนแก่ กลุ่มขี้เหล้า หรือกลุ่มอะไรก็ได้ ร่วมกันทำกัณฑ์หลอนขึ้น แห่ออกไปวัดเป็นการสนุกสนาน ใครใคร่ทำทำ มีเงินทองข้าวของจะบริจาคได้ตลอดวัน จึงเห็นบุญมหาชาติของอีสาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ประจำปี และถือกันว่าต้องทำทุกปีด้วย
     อนึ่งก่อนวันงาน 5-6 วัน หนุ่มสาวจะลงศาลานำดอกไม้ ประดับตกแต่งศาลาบริเวณวัดเป็นโอกาสที่หนุ่มจะได้คุยกับสาว ช่วยสาวทำดอกไม้สนุกสนานที่สุด นี้แหละคืออีสานที่น่ารัก
     เดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์ ประเพณีนี้ทำเหมือนๆกับภาคกลาง จะต่างกันก็ในเรื่องการละเล่นหรือการรดน้ำ สาดน้ำ สีกาอาจจะสาดพระสาดเณรได้ ไม่ถือ พระบางรูปกลัวน้ำถึงกับวิ่งก็มี บางแห่งสาวๆตักน้ำขึ้นไปสาดพระเณรบนกุฏิก็มี แต่การเล่นสาดน้ำนี้ไม่สาดเฉพาะวันตรุษเท่านั้น ระยะใกล้ๆกลางเดือนห้าสาดได้ทุกวัน บางปีเลยไปถึงปลายเดือนก็มีถ้าอากาศยังร้อนมากอยู่ นอกจากนี้ยังมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธและพระสงฆ์ด้วย คือระยะกลางเดือนห้าอากาศร้อน สาวๆจะตักน้ำไปวัดสรงพระคือให้พระอาบและสรงพระพุทธรูปด้วย เมื่อประมาณ 30 ปีมานี้ ทุกวัดจะมีหอสรงอยู่ คือถึงเทศกาลนี้ก็อัญเชิญพระพุทธรูปไปตั้งในหอ ให้ชาวบ้านมาสรงกัน อากาศร้อนๆ เด็กๆ ก็ชอบเข้าไปเบียดกันใต้หอสรงรออาบน้ำสรงพระ ขลังดี ล้างโรคภัยได้ หอสรงเป็นไม้กระดานน้ำไหลลงใต้ถุนได้ เด็กก็เลยได้อาบน้ำสนุกสนานไปด้วย
     เดือนหก ทำบุญวิสาขบูชา และบุญบั้งไฟ นอกจากนี้ก็มีพิธีรดน้ำพระสงฆ์ยกฐานเป็น ยาซา ยาครู สำเร็จและบวชลูกหลาน
     เดือนเจ็ด ทำบุญติดปีติดเดือน เรียกว่าทำบุญด้วยเบิกบ้าน ทำพิธีเลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมือง เลี้ยงผีบ้านซึ่งเรียกว่าปู่ตา หรือตาปู่ ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้าน และเรียกผีประจำไร่นาว่า "ผีตาแฮก" คือก่อนจะลงทำนาก็เซ่นสรวงบูชาเจ้าที่ผีนาก่อนเป็นการแสดงความนับถือรู้บุญคุณ
    "เดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเล่านั้นบูชาแท้ซู่ภาย"
     เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เหมือนกับภาคกลาง แต่มีความนิยมพิเศษคือชักชวนชาวบ้านให้นำขี้ผึ้งมาร่วมกันหล่อเทียน เช่นเดียวกับธรรมเนียมหลวงมีการถวายเทียนพรรษา
    "เดือนแปดได้ล้ำลวงมาเถิง ฝูงหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย"
     เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน กำหนดเอาวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ประชาชนหาอาหาร หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองไปวางตามยอดหญ้าบ้าง แขวนตามกิ่งไม้บ้าง และใส่ไว้ตามศาลเจ้าเทวาลัยบ้าง วัตถุประสงค์เพื่ออุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อมานิยมทำบุญตักบาตรและกรวดน้ำอุทิศกุสลตามแบบพุทธ แต่มีผู้ใหญ่บางท่านว่าบุญประดับดินนี้ เป็นพิธีระลึกถึงคุณของแผ่นดินมนุษย์ได้อาศัยแผ่นดินอยู่และทำกิน พอถึงเดือน 9 ข้าวปลาพืชผลกำลังเจริญ ชาวบ้านจึงทำพิธีขอบคุณแผ่นดิน
    "เดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชาวเมืองเล่าเตรียมกันไว้
      พากันนานยังเข้าประดับดินกินก่อน ทายกนานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมซู่ภาย"
     เดือนสิบ ทำบุญเข้าสาก (สลากภัต) ทำในวันเพ็ญเดือน 10 เป็นการทำบุญให้เปรตโดยแท้ ระยะห่างจากบุญประดับดิน 15 วัน บางท่านว่าเป็นการส่งเปรตคือเชิญมารับทานวันสิ้นเดือน 9 และเลี้ยงส่งในกลางเดือน 10 บางถิ่นเวลาทำบุญมีการจดชื่อของตนใส่ไว้ที่และเขียนสลากใส่ลงในภาชนะบาตรด้วย เมื่อพระเณรรูปได้รับสลากนั้น ก็เรียกพานยกเจ้าของไปถวาย
     "เถิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ
      เข้าสากน้ำไปให้สิ่งโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพ้นที่สูง"
     เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว ทำพิธีปวารณา ตามวัดต่างๆ จุดประทีปโคมไฟสว่างไสว ใช้น้ำมะพร้าวบ้าง น้ำมันละหุ่งบ้าง น้ำมันหมูบ้าง ใส่กระป๋องหรือกะลามะพร้าวจุดตั้งหรือแขวนตามต้นไม้ตลอดคืน บางคนก็ตัดกระดาษทำรูปสัตว์ หรือบ้านเล็กๆ จุดไฟไว้ข้างใน เป็นการประกวดฝีมือในเชิงศิลปในตัวอย่างสนุกสนาน รุ่งเช้าก็มีการทำบุญตักบาตรเทโว บางวัดมีการกวนข้าวทิพย์ และบางวัดก็มีการแข่งเรือด้วย
     "เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วเป็นแนวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้วออกมา
      เถิงวัสสามาแล้ว 3 เดือนก็เลยออก เฮียกว่าออกพรรษาปวารณากล่าวไว้ เอาได้เล่ามา"
     เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน (กฐินเริ่มแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12) มีการจุดพลุตะไลประทัดด้วย ส่วนวัดใดอยู่ริมแม่น้ำก็มีการแข่งเรือกัน เรียกว่า "ซ่วงเฮือ" เพื่อบูชาอุสุพญานาค 15 ตะกูล รำลึกถึงพญาฟ้างุ่มที่นำพระไตรปิฎกขึ้นมาจากเมืองอินทปัตถะ (เขมร)
     "ในเดือนนี้เฟิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ช่วงกันบูชาฝูงนาโคนาคเนาในพื้น"
     บางแห่งทำบุญทอดผาสาทเผิ้ง (ปราสาทผึ้ง) หลังจากทอดกฐินแล้ว ละบางบ้านทำบุญถวายดอกฝ้ายเพื่อทำผ้าห่มถวายพระ

ภาพเพื่อนร่วมรุ่น ปี 2550

นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนยโสธร   รุ่นที่ 1
เข้าค่ายเรียนรู้คุณธรร  นำชีวิตพอเพียง





วันรับประสาทอนุปริญญา

จบการศึกษา











นักศึกษาวิทยาลัยชุมชนยโสธร
ขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกๆท่านที่ทำให้ได้มีวันนี้
วันแห่งความสำเร็จของการศึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

การเมืองการปกครองของไทย

ประวัติการเมืองการปกครองของไทย
ประเทศไทยมีการบันทึกประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่งสมัยสุโขทัยประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยก็เริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยเช่นกัน การเมืองการปกครองสมัยสุโขทัย(1781-1921) อาณาจักรสุโขทัยมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ยุด คือ ยุดแรก ปกครองแบบพ่อปกครองลูก คำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์จะมีคำว่า พ่อขุนนำหน้า ลักษณะเด่น -มีพลเมืองน้อยปกครองง่าย มีความใกล้ชิดกันระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ ยุคกลาง ปกครองแบบจักรพรรดิ คำนำหน้าพระนามของพระมหากษัตริย์จะมีคำว่า พญานำหน้า ลักษณะเด่น มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดมากขึ้น ยุคปลาย ปกครองแบบธรรมราชา คำนำหน้าพระนามของพระมหากษัตริย์จะมีคำว่า พระมหาธรรมราชาที่นำหน้า ลักษณะเด่น -นำเอาหลักธรรมของศาสนาพุทธในเรื่องการเป็นผู้นำผู้ปกครองมา ใช้ควบคุมพฤตกรรมพระมหากษัตริย์ คือ ทศพิธราชธรรม”  ประเทศไทยเป็นชาติที่เก่าแก่และมีประวัติความเป็นมา ที่ยาวนานชาติหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาประวัติการเมืองการปกครองของไทย จึงเริ่มตั้งแต่ที่ไทยได้ตั้งอาณาจักรที่มั่นคงขึ้นในปี พ..1781 โดยอาณาจักรแรกของไทย คือ อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง
การเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ..2475 เป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียว ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การเมืองการปกครองของไทย แบ่งออกได้ 4 สมัย ดังนี้ (www.parliamentjunior.in.th : 17 ก.ย.51)
1. สมัยสุโขทัย ( .. 1792 - .. 1981 )
ในสมัยสุโขทัย การปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เนื่องจากอำนาจสูงสุดในการปกครองรวมอยู่ที่พ่อขุนพระองค์เดียว โดยพ่อขุนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ในสมัยสุโขทัยได้มีการจำลองลักษณะครอบครัวมาใช้ในการปกครอง ทำให้ลักษณะการใช้อำนาจของพ่อขุนเกือบทุกพระองค์ เป็นการใช้อำนาจแบบให้ความเมตตาและให้เสรีภาพแก่ราษฎรตามสมควร

ลักษณะทางการเมืองการปกครอง
ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนแห่งกรุงสุโขทัยทรงเป็นประมุขและทรงปกครองประชาชนในลักษณะบิดาปกครองบุตรคือ ถือว่าพระองค์เป็นพ่อที่ให้สิทธิและเสรีภาพและมีความใกล้ชิดกับประชาชน มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัยและส่งเสริมความสุขให้ประชาชน ประชาชนในฐานะที่เป็นบุตรมีหน้าที่ให้ความเคารพและเชื่อฟังพ่อขุน
พ่อขุนกับประชาชนในรูปแบบของการปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน กล่าวคือ ประชาชนมีสิทธิถวายฎีกา หรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุน เช่น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าประชาชนต้องการถวายฎีกาก็จะไปสั่นกระดิ่ง พระองค์ก็จะเสด็จออกมาทรงชำระความให้
ในการจัดการปกครองอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หรือเป็นเมืองหลวงอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงดำเนินการปกครองประเทศด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ช่วยเหลือ ในการปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ และรับผิดชอบโดยตรงต่อพระองค์
อาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่พระองค์ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่เข้ามาไว้ในปกครองมากมาย จึงยากที่จะปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยพระองค์เองได้อย่างทั่วถึง
การปกครองเมืองต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ           
  1. การปกครองส่วนกลาง
ส่วนกลาง ได้แก่ เมืองหลวงและเมืองลูกหลวง
เมืองหลวง คือ สุโขทัย อยู่ในความปกครองของพระมหากษัตริย์โดยตรง
เมืองลูกหลวง เป็นเมืองหน้าด่านที่อยู่รายล้อมเมืองหลวงทั้ง 4 ทิศ เมืองเหล่านี้พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสไปปกครอง ซึ่งได้แก่
             (1) ทิศเหนือ เมืองศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก)
             (2) ทิศตะวันออก เมืองสองแคว (พิษณุโลก)
             (3) ทิศใต้ เมืองสระหลวง (พิจิตร)
             (4) ทิศตะวันตก เมืองกำแพงเพชร (ชากังราว)
ในสมัยสุโขทัยเรียกเมืองหลวงและเมืองลูกหลวงรวมกันว่า ราชธานี
             2. การปกครองหัวเมืองหัวเมือง หมายถึง เมืองที่อยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
             2.1 หัวเมืองชั้นนอก
             หัวเมืองชั้นนอกเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงสุโขทัย หรืออยู่รอบนอกอาณาเขตของเมืองหลวง
             2.2 หัวเมืองประเทศราช
             หัวเมืองประเทศราชเป็นเมืองภายนอกพระราชอาณาจักร เมืองเหล่านี้มีกษัตริย์ของตนเองปกครอง แต่ยอมรับในอำนาจของกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยเป็นเพียงเจ้าคุ้มครอง โดยหัวเมืองเหล่านี้จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และส่งทหารมาช่วยรบเมื่อทางกรุงสุโขทัยมีคำสั่งไปร้องขอ

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัยมีหัวเมืองประเทศราชจำนวนมาก เช่น เมืองเซ่า น่าน เวียงจันทน์ นครศรีธรรมราช ยะโฮร์ หงสาวดี เป็นต้น
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อ พ..1826 ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น โดยใช้อักษรมอญและอักษรขอม รวมทั้งอักษรไทยเก่าแก่บางอย่างเป็นตัวอย่าง ทำให้ชาติไทยมีอักษรไทยใช้เป็นวัฒนธรรมของเราเอง
ในสมัยสุโขทัย นอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองอิสระทางเหนือแล้ว ยังมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศด้วย เช่น จีน มอญ มลายู ลังกา และอินเดีย สมัยสุโขทัยจึงเป็นสมัยที่เริ่มมีชาวต่างประเทศเข้ามาประกอบการต่าง ๆ เช่น ชาวจีนเข้ามาทำเครื่องสังคโลก และเป็นสมัยที่มีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษีศุลกากร หรือ จกอบเพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงยังทรงศรัทธาในหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดของพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนานิกายหินยานที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศลังกา โดยได้ทรงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์มาประจำที่กรุงสุโขทัย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิใหม่ และในเวลาไม่นานนัก พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ก็มีความเจริญในสุโขทัย ประชาชนพากันยอมรับนับถือและกลายมาเป็นศาสนาประจำชาติไทยในที่สุด
การนำพระพุทธศาสนาเข้ามา และพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงทำตัวอย่าง ให้ประชาชนเห็นถึงความเคารพของพระองค์ที่มีต่อพระภิกษุและหลักธรรม ทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อให้เกิดศีลธรรมจรรยาและระเบียบวินัยแก่ประชาชน ทำให้มีความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เพราะทั้งพ่อขุนและประชาชนมีหลักยึดและปฏิบัติในทางธรรม
พระมหาธรรมราชาลิไทย พ่อขุนของสุโขทัยในสมัยต่อมา ได้ทรงนิพนธ์หนังสือไทยเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ชื่อ ไตรภูมิพระร่วงและในหนังสือเรื่องนี้เอง ได้กล่าวถึง ทศพิธราชธรรมอันเป็นหลักธรรมของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ต่อมาก็ค่อย ๆ เสื่อมอำนาจ โดยบรรดาหัวเมืองประเทศราชต่าง ๆ เริ่มแยกตัวเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองเผ่าไทยทางใต้ คือ กรุงศรีอยุธยา ได้แผ่อำนาจเข้ามามีอิทธิพลเหนือกรุงสุโขทัย ในที่สุด อาณาจักรไทยยุคสุโขทัยก็ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา
2. สมัยอยุธยาตอนต้น
    สมัยอยุธยา ( .. 1893 - .. 2310 )
             การปกครองในสมัยอยุธยาเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจในการปกครองจะอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว เหมือนกับในสมัยสุโขทัย แต่ต่อมา แนวความคิดในการปกครองนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป

ลักษณะทางการเมืองการปกครอง
สมัยอาณาจักรอยุธยาตอนต้น มีการปกครองแบบเดียวกับสมัยสุโขทัย แต่หลังจากที่ไทยสามารถตีนครธมของขอมได้ใน พ..1974 และกวาดต้อนขุนนางและประชาชนชาวขอมที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจของอินเดียเข้ามาในอยุธยาเป็นจำนวนมาก ขุนนางและประชาชนเหล่านี้ได้เอาแนวความคิดในการปกครองของเขมร ที่ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งจากลัทธิพราหมณ์มาใช้ในกรุงศรีอยุธยา คือ แบบเทวราชา หรือ เทวสิทธิ ทำให้แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องเทวราชาเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น และทำให้สถาบันการปกครองของไทยเปลี่ยนแปลงไป จากการปกครองแบบ "พ่อ" กับ "ลูก" ในสมัยสุโขทัย มาเป็นการปกครองแบบ "นาย" กับ "บ่าว" ทั้งนี้เพราะการปกครองแบบเทวสิทธิ์ถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนเจ้าชีวิต เป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาด สามารถกำหนดชะตาชีวิตของผู้อยู่ใต้การปกครองได้ และถือว่าอำนาจในการปกครองนั้น พระมหากษัตริย์ทรงได้รับจากสวรรค์ เป็นเทวโองการ การกระทำของพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นความต้องการของพระเจ้า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเสมือนเทพเจ้าองค์หนึ่ง หรือเป็น "สมมุติเทพ" กล่าวคือ เป็นนายของประชาชน และประชาชนเป็นบ่าวของพระมหากษัตริย์ที่จะขัดขืนมิได้โดยเด็ดขาด พระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นเจ้าชีวิตของประชาชนทุกคน
สำหรับเรื่องการปกครองนั้น เนื่องจากสมัยอยุธยามีระยะเวลายาวนาน และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและหลักเกณฑ์ในการปกครอง ไม่ได้ใช้รูปแบบเดียวกันตลอดสมัย จึงอาจแบ่งการปกครองในสมัยอยุธยาออกได้เป็น 2 สมัย คือ
               2.1 สมัยอยุธยาตอนต้น ( ..1893 - .. 1991 )
            การปกครองในสมัยอยุธยาตอนตัน เริ่มตั้งแต่ พ..1893 ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  (อู่ทอง) ซึ่งเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรอยุธยา ไปจนกระทั่งถึงสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ใน พ..1991   การจัดระเบียบการปกครองในสมัยอยุธยาตอนต้น แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ                   

  
 1) การปกครองส่วนกลาง  พระเจ้าอู่ทองได้ทรงจัดระเบียบการปกครองส่วนกลางเป็นแบบจตุสดมภ์ตามแบบขอม มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้อำนวยการปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี 4 คน คือ ขุนเมือง (เวียง) ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา เป็นผู้ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับกิจการทั้ง 4 คือ
                            (1) เมือง (เวียง) รับผิดชอบด้านรักษาความสงบและปราบปรามโจรผู้ร้าย
                           (2) วัง รับผิดชอบเกี่ยวกับราชสำนัก การยุติธรรม และตัดสินคดีความต่าง ๆ
                            (3) คลัง รับผิดชอบงานด้านคลังมหาสมบัติ การค้า และภาษีต่าง ๆ
                            (4) นา รับผิดชอบเกี่ยวกับการเกษตร
โดยให้ กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเป็นศูนย์กลางการปกครอง

                     2) การปกครองหัวเมือง
             สมัยอยุธยาตอนต้นได้แบ่งการปกครองหัวเมือง ออกเป็นหัวเมือง 3 ประเภท คือ
                          (1) หัวเมืองชั้นใน  หัวเมืองชั้นในประกอบด้วยเมืองหน้าด่านชั้นในสำหรับป้องกันในราชธานี 4 ทิศ คือ ลพบุรี นครนายก พระประแดง และสุพรรณบุรี รวมทั้งหัวเมืองชั้นในเรียงรายตามระยะทางคมนาคม สามารถติดต่อกับราชธานีได้ภายใน 2 วัน เช่น นครพนม สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ราชบุรี เป็นต้น
                          (2) หัวเมืองชั้นนอก  หัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร ได้แก่ เมืองซึ่งอยู่นอกเขตหัวเมืองชั้นใน และอยู่ไกลออกไปตามทิศต่าง ๆ ได้แก่ ทิศตะวันออก เช่น โคราช จันทบุรี ทิศใต้ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ถลาง ทิศตะวันตก เช่น ตะนาวศรี ทวาย และเชียงกราน เมืองเหล่านี้บางเมืองในสมัยสุโขทัย จัดเป็นเมืองประเทศราช แต่ในสมัยอยุธยาได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นหัวเมืองชั้นนอก
                          (3) หัวเมืองประเทศราช 
หัวเมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองมะละกา ยะโฮร์ ทางแหลมมลายู และกัมพูชาด้านตะวันออก
                การปกครองส่วนภูมิภาคนอกจากจัดเป็นหัวเมืองต่าง ๆ แล้ว ยังมีการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ในหัวเมืองชั้นในอีก โดยแบ่งออกเป็นแขวง แขวงแบ่งออกเป็นตำบล และตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน โดยมีผู้ปกครองตามระดับ คือ หมื่น เป็นบรรดาศักดิ์ของหัวหน้าผู้ปกครองระดับแขวง และพันเป็นบรรดาศักดิ์ของหัวหน้าผู้ปกครองระดับตำบลและหมู่บ้าน

ประชาชนในสมัยอยุธยาตอนต้นมีฐานะเป็นไพร่ ทำหน้าที่ทั้งทางทหาร และหน้าที่ทางพลเรือนพร้อมกันไป เพราะว่าการปกครองในสมัยนั้นยังไม่ใช้ทฤษฎีการแบ่งงาน ประชาชนเป็นไพร่ได้รับที่ดินตามที่ตนและครอบครัวจะทำการเพาะปลูกได้ เมื่อมีผลผลิตเกิดขึ้น ไพร่จะต้องมอบส่วนหนึ่งให้กับขุนวัง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลที่ดินนั้น ไพร่จะต้องสละเวลาส่วนหนึ่งไปรับใช้ผู้ที่ยอมให้ตนอยู่ในที่ดินของเขา ขุนนางจะเป็นผู้ควบคุมไพร่โดยตรง และมีหน้าที่ระดมกำลังยามศึกสงคราม หรือเกณฑ์แรงงานไปช่วยทำงานสาธารณประโยชน์ ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนหรือไพร่ทุกคนต้องรับใช้พระมหากษัตริย์ หรือไพร่มีฐานะเป็นทหารทุกคน

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ลักษณะของอำนาจอธิปไตยและองค์ประกอบของรัฐ

แนวความคิดว่าด้วยรัฐ 
                รัฐ หรือประเทศเป็นหน่วยการเมืองที่สำคัญที่สุด และเป็นส่งที่มีบทบาทอย่างมากในการเมืองสมัยใหม่ ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายว่า แว่นแคว้น บ้านเมือง ประเทศ มาจากคำบาลี รฏฐ หรือ ราษฎร ในภาษาสันสกฤต
องค์ประกอบของรัฐ
            รัฐหนึ่งๆ จะมีความเป็นรัฐที่สมบูรณ์ได้ จะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ประการ คือ
1.             ประชาชน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ กล่าวคือ รัฐทุกรัฐจะต้องมีประชาชนอาศัยอยู่จึงจะเป็นรัฐขึ้นมาได้ ความเจริญก้าวหน้าหรือตกต่ำเสื่อมโทรมของรัฐนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับประชาชนของรัฐนั้นๆ นั่นเอง  ดังนั้นทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่มีค่า การที่ประชาชนมีคุณภาพสูง คือ สุขภาพอนามัยดี มีความรู้สูง มีระเบียบวินัยดี ก็จะสามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ถึงแม้ทรัพยากรจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยก็ตาม      ทั้งนี้จำนวนประชากรก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นมหาอำนาจ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน มีปะชากรกว่าพันล้านคน แต่บางครั้งมหาอำนาจก็อาจจะมีประชากรจำนวนน้อย แต่มีคุณภาพสูง และการที่เราจะวางกฎเกณฑ์ที่แน่นอนได้ว่ารัฐหนึ่งๆ ควรมีประชาสักเท่าไร คงจะกระทำไม่ได้ เพียงแต่อนุมานไว้ว่ามีจำนวนประชากรเพียงพอที่สามารถปกครองตัวเองได้ก็เป็นรัฐได้
2.             ดินแดนที่แน่นอน     ดินแดนที่แน่นอนนี้มีพื้นดิน น่านน้ำทั้งอาณาเขตในแม่น้ำ ทะเลสาบ และอาณาเขตใต้ทะเล นอกจากนี้ยังรวมถึงขอบเขตของท้องฟ้าที่อยู่เหนืออาณาเขตของพื้นดินและท้องน้ำทั้งหมดอีกด้วย    อาณาเขตบนพื้นดินนั้นตามหลักการสากลแล้วมักยึดเอาพรมแดนธรรมชาติ เช่น เทือกเขา แม่น้ำ เป็นเกณฑ์ สำหรับในที่ราบก็จะมีการปักเขตแดนอย่างชัดเจน  ส่วนอาณาเขตในท้องทะเลนั้น เดิมทีตามหลักสากลจะยึดถือเอาว่าอาณาเขตของรัฐที่เรียกว่าเขตอธิปไตยนั้น นับจากชายฝั่งออกไปในทะเล 3 ไมล์ ซึ่งจัดว่าปลอดภัยจากวิถีของกระสุนปืนใหญ่ของเรือรบสมัยก่อน ต่อมาเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอาวุธปืนใหญ่ยิงได้ไกลกว่า 3 ไมล์ ทำให้มีการกำหนดอาณาเขตทางท้องทะเลใหม่เป็น 12 ไมล์ แต่ปัจจุบันแทบไม่มีความหมาย เพราะเทคโนโลยีทางอาวุธประเภทขีปนาวุธสามารถยิงไปได้ไกลมาก จึงได้เปลี่ยนไปพิจารณาทางเศรษฐกิจแทน เนื่องจากท้องทะเลนั้นเป็นแหล่งที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ และแหล่งแร่ อาทิ น้ำมัน ทองคำ ยูเรเนียมต่อมาได้มีการตกลงกันทำอนุสัญญา (Convention) พ.ศ.2535 ในการประชุมนานาชาติ ที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ แต่กว่าจะมีผลบังคับใช้ โดยการที่มีประเทศให้สัตยาบันครบ 60 ประเทศ ก็เป็นปี พ.ศ.2537 หลักการสำคัญ คือ ทุกประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับท้องทะเลจะมีอาณาเขตที่มีอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่นับจากชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ ส่วนเขตเศรษฐกิจจำเพาะ คือ เขตที่รัฐเจ้าของจะมีสิทธิอธิปไตยออกไป 200 ไมล์ เรียกว่า เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ถือเป็นเขตแดนที่รัฐเจ้าของมีสิทธิในทรัพยากรทั้งมวลในทะเล บรรดาเรือของรัฐอื่นสามารถที่จะแล่นผ่านได้ แต่ต้องไม่ทำการจับสัตว์น้ำหรือทำกิจกรรมทางธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติการวัดพื้นที่แบบนี้ ย่อมทำให้มีอาณาเขตที่ทับกันอยู่เป็นส่วนใหญ่
3.             รัฐบาล คือ องค์การหรือสถาบันทางการเมือง ที่สามารถจัดระเบียบ ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ และรักษาความสงบในการอยู่ร่วมกันของประชาชน ทั้งยังเป็นตัวแทนของประชาชน ทำการทุกอย่างในนามของประชาชนกลุ่มนั้นในอาณาเขตนั่นเอง    การที่มีรัฐบาลขึ้นได้นั้น จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน รัฐบาลจะยืนยงอยู่ได้ก็ด้วยการสนองความต้องการของประชาชน สามารถรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้ความยุติธรรมต่อประชาชน ป้องกันการรุกรานจากประเทศอื่น โดยประชาชนมีหน้าที่เสียภาษีอากรและปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐบาลที่บัญญัติออกมา
4. อำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือ การแสดงออกซึ่งเอกราชของประเทศหนึ่งๆ ที่สามารถจะเป็นตัวของตัวเองในการกำหนดนโยบายของตนเองและนำนโยบายของตนออกมาบังคับใช้ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องตกอยู่ใต้คำบัญชาของประเทศอื่นใด
         อำนาจอธิปไตยเป็นแนวคิดทางกฎหมาย ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นอำนาจอธิปไตยภายในและอำนาจอธิปไตยภายนอก กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยภายในเป็นอำนาจที่ออกกฎหมายและรักษากฎหมาย ตลอดจนบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนอำนาจอธิปไตยภายนอก คือ อำนาจที่ประเทศจะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ รวมทั้งอำนาจที่จะประกาศสงครามและทำสนธิสัญญาสันติภาพ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า เอกราช ก็คือ อำนาจอธิปไตยภายนอกนั่นเอง
         หากถามว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของใครปัจจุบันดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ระบุไว้ชัดเจนใน มาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล มีการแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจออกเป็น 3 หน่วยงาน คือ
         อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการออกกฎหมายไว้ใช้ในการปกครองประเทศ ตามหลักโดยทั่วไปแล้ว คือ รัฐสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประชาชนได้เลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนในการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน และเพื่อนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของประชาชนตลอดจนความมั่นคงของประเทศ ประกอบกับมีวุฒิสภาคอยพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้คำแนะนำในเรื่องของการออกกฎหมายต่างๆ
          อำนาจบริหาร คือ อำนาจซึ่งคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งหลายใช้ในการบริหาร ปกครองประเทศ ตามกฎหมายซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราออกมา
         อำนาจตุลาการ หรือ อำนาจศาล มีอำนาจตัดสินคดีขัดแย้งต่างๆ ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับรัฐตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราออกมาก หรือในบางกรณีของประเทศ ยังสามารถพิจารณาได้ด้วยว่ากฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราออกมาขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศหรือไม่
                สรุปคำจำกัดความของรัฐสมัยใหม่ คือชุมชนของมนุษย์จำนวนหนึ่งที่ครอบครองดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน รวมกันอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลมิได้อยู่ในอำนาจควบคุมของรัฐอื่นๆ สามารถที่จะปกครอง และดำเนินกิจการภายในของรัฐตลอดจนทำการติดต่อกับรัฐอื่นๆ ได้โดยอิสระ