วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พิธีมงคลต่างๆ

     
  • พิธีมงคลโกนจุก

พิธีมงคลโกนจุก คือพิธีตัดจุกของเด็ก ที่ผู้ใหญ่ให้ไว้จุกมาตั้งแต่ทำพิธีโกนผมไฟ การประกอบพิธีมงคลโกนจุกทำกันเมื่อเด็กชายมีอายุ 13 ปี ถ้าเป็นเด็กหญิงก็มีอายุ 11 ปี การตระเตรียมงาน คือนำวันเดือนปีของเด็กไปให้โหยผูกดวง กำหนดฤกษ์ที่จะประกอบพิธี กำหนดงานไว้ 2 วัน คือนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ตอนเย็นและฉันอาหารตอนเช้า การโกนจุกทำกันในตอนเช้าของวันที่ 2 พิธีที่ทำในวันแรก วันแรกเริ่มประกอบพิธีในตอนเย็นโดยเจ้าภาพจัดแจงโกนผมเด็กรอบจุก อาบน้ำแต่งตัวและเกล้าจุกไว้ให้เรียบร้อย ปักด้วยปิ่น หรือสวมพวงมาลัยไว้เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว ก็นำเด็กมานั่งต่อหน้าพระสงฆ์ฟังพระเจริญพระพุทธมนต์ ข้างหน้าเด็กมีโต๊ะสำหรับรองพานเครื่องตัดจุก เตรียมจับด้ายสายสิญจน์ทำเป็นวงกลมสวมลงพอเหมาะแก่จุกของเด็ก เมื่อพระเริ่มสวดพระพุทธมนต์ก็ให้สวมลงไป และสายสิญจน์ที่พระจับสวดมนต์มาคล้องศีรษะเด็ก และเอาออกมาเมื่อพระสวดจบแล้ว พิณพาทย์ประโคม ลั่นฆ้องและโห่ร้องเอาชัยเป็นการเสร็จพิธีตอนเย็นวันแรก รุ่งขึ้นให้เด็กแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว แบ่งจุกของเด็กออกเป็น 3 ปอย เอาแหวนนพเก้าสวมปอยละ 1 วง แซมด้วยใบเงินใบทองและหญ้าแพรก เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้วก็ให้เด็กไปนั่งเบื้องหน้า พอได้ฤกษ์โหรลั่นฆ้องขึ้น 3 ครั้ง โห่ร้องเอาชัย พระสงฆ์สวดชยันโต พิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย พอพระสงฆ์สวดถึงบทที่ว่า สีเส ปฐวิโปก ขเร ผู้เป็นประธานก็เริ่มตัดจุกปอยแรกทันที ส่วนจุกปอยที่ 2-3 ให้ผู้มีอายุโสรอง ๆ ลงไปเป็นผู้ตัด พราหมณ์เป่าสังข์ ดีดบัณเฑาะว์ เสร็จแล้วให้ช่างโกนผมให้เกลี้ยง และในขณะทำพิธี ตอนนี้เอาด้ายสายสิญจน์ที่พระถือสวดชยันโตมาวงล้อมเด็ก และผู้เข้าร่วมกลุ่มทำพิธีไว้ด้วย เมื่อโกนผมเด็กเรียบร้อยแล้ว ให้นั่งในที่อันควร อาบน้ำมนต์ ให้ศีลให้พร แล้วให้ไปนั่งต่อหน้าพระสงฆ์ เจ้าภาพถวายอาหารบิณฑบาต พระสงฆ์อนุโมทนาแล้วก็เป็นเสร็จพิธี ส่วนผมของจุกที่ตัดนั้น จะทำพิธีทำขวัญจุกในตอนเย็นอีกก็ได้ การทำขวัญจุกต้องเตรียมเครื่องบายศรี มีมะพร้าวอ่อน 1 ผล กล้วยน้ำว้า 1 หวี ขนมแดง ขนมขาว ขันใส่ข้าวสารสำหรับปักแว่นเทียน เมื่อได้ฤกษ์ก็ให้เด็กนั่งหน้าเครื่องบายศรี มีญาติมิตรห้อมล้อม ผู้ทำพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำอัญเชิญขวัญแล้ว เอาด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือเด็กข้างละ 3 เส้น ลั่นฆ้องชัยและเวียนเทียนจากเบื้องซ้ายมาเบื้องขวาครบ 7 ครั้ง ดับเทียนโบกควันแล้วเจิมหน้าด้วยแป้งกระแจะ เอาน้ำมะพร้าวอ่อนกับไข่ขวัญให้เด็กกิน 3 ครั้ง แล้วิปิดบายศรีตีฆ้องและโห่ร้องเอาชัย พิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย เมื่อมีการอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้วก็เสร็จพิธี ส่วนจุกนั้นให้ใส่กระทงบายศรีลอยไปในแม่น้ำเสีย
  • พิธีมงคลทำบุญขึ้นบ้านใหม่

ในพิธีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่นั้น ถ้าเจ้าบ้านมีความประสงค์ที่จะประกอบพิธีตามทางศาสนา และมีการเชิญแขกให้มาร่วมด้วยก็มีหลักที่จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ต้องกำหนดวันการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ให้เป็นที่แน่นอนและการเลือกวันที่ว่านี้ ถ้าต้องการให้เป็นมงคลตามความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณแล้ว ก็พึงไปหารือกับผู้ที่มีความรู้ทางโหราศาสตร์ให้กำหนดวันและเวลาให้

2. ออกบัตรเชิญแขกให้มาร่วมในพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และส่งบัตรนั้นออกไปในระยะเวลาก่อนถึงวันกำหนดพอสมควร ในบัตรนั้น ต้องบอกตำบลบ้านที่จะประกอบพิธี กำหนดวัน เวลาอย่างชัดเจน

3. เมื่อใกล้กับวันที่กำหนดไว้ ต้องเตรียมตกแต่งบ้านเรือนที่จะทำบุญ ขึ้นบ้านใหม่นั้นให้เรียบร้อยงามตาตามสมควร

4. เตรียมส่งของที่จำเป็นใช้ในวันประกอบพิธีให้พร้อมเช่น พระพุทธรูป ขันน้ำพระพุทธมนต์ ใบไม่ที่จะใช้สำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ อาสนะสำหรับปูรองรับพระสงฆ์ และอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้รอบรู้ในการประกอบพิธีนี้

5. เตรียมด้วยสำหรับทำสายสิญจน์ บาตรน้ำมนต์และอื่น ๆ
6. ถ้าต้องการให้มีการยกศาลพระภูมิในวันนั้นด้วย ก็ต้องเชิญผุ้มีความรู้ในทางนี้มาเป็นผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีในวันนั้นด้วย

7. ควรเตรียมต้อนรับรองแขกให้พร้อม และมีการนัดหมายกับผู้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกให้เป็นที่เข้าใจว่าใครมีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างไร

8. ถ้ามีการเลี้ยงอาหารแขกด้วย ก็ต้องเตรียมห้องอาหารและอาหารให้พร้อม ข้อที่ผู้ไปร่วมงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่พึงปฏิบัติ มีดังนี้คือ

1. ผู้เป็นแขกต้องแต่งกายให้เรียบร้อยตามสมควร
    หรืออาจจะแต่งกายตามประเพณีของพื้นบ้านที่อยู่นั้นได้
2. พึงไปยังบ้านที่มีการประกอบพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก่อนเวลาที่กำหนด
    ไว้สักเล็กน้อยเพื่อป้องการรอคอยของเจ้าของบ้านผู้เชิญเรา
3. ควรหาของขวัญไปกำนัลแด่เจ้าภาพตามสมควร
4. ผู้เป็นแขกไม่พึงวิจารณ์บ้านใหม่ของเจ้าภาพให้เป็นไปในทางไม่เหมาะสม
   เพราะจะทำให้เจ้าบ้านเกิดความไม่พอใจต่อบ้านของตนขึ้นมา และไม่เป็นสุข
   ในเมื่อทราบว่าบ้านของตนไม่เหมาะสมตามที่แขกกล่าววิจารณ์
5. เมื่อเสร็จพิธี และถ้ามีการรับประทานอาหารแล้ว ผู้เป็นแขกต้อง
   อยู่สังสรรค์สนทนากับเจ้าของบ้านในเวลาพอสมควร
6. ก่อนลากลับ ควรมีการอวยพร และแสดงความปรารถนาให้เขาอยู่บ้านใหม่ด้วยความสุข
  • พิธีมงคลโกนผมไฟ

พิธีมงคลโกนผมไฟ ทำเมื่อเด็กมีอายุครบ 1 เดือน ส่วนมากมักทำรวมกันกับพิธีมงคลทำขวัญเดือน เป็นพิธีที่เอิกเกริกขึ้น เพราะมีการประกอบพิธีทั้งทางพราหมณ์และทางพิธีสงฆ์ การเตรียมการก็มีการบอกกล่าวไปยังญาติพี่น้อง และผู้ที่เคารพนับถือจะทำพิธีมงคลโกนผมไฟเด็ก ตกแต่งบ้านเรือนที่จะใช้ประกอบพิธี นิมนต์พระสงฆ์ไว้ให้พร้อม และเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธี กับเตรียมเครื่องบายศรี เครื่องกระยาบวด และแป้งกระแจะ ตลอดจนเครื่องใช้อื่น ๆ ตามที่พราหมณ์จะกำหนดให้เตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาก็นำเด็กมานานหันหัวไป ตามที่ที่โหรกำหนด ให้ผู้เป็นประธานกล่าวจุดธูปเทียนและกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และกล่าวคำอัญเชิญเทวดา เมื่อได้ฤกษ์ที่กำหนดไว้โหรก็ลั่นฆ้องชัย ผู้เป็นประธานหลั่งน้ำสังข์ลงบนศีรษะเด็ก และเอามีดโกนมาแตะผมเด็กพอเป็นพิธี ในระหว่างนี้พระสงฆ์สวดชยันโต พราหมณ์เป่าสังข์และดีดบัณเฑาะว์ พิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย มีการให้ศีลให้พรแล้วให้ช่างมาโกนผมไฟออกให้หมด นำเด็กไปอาบน้ำในอ่างน้ำอุ่นที่เจือน้ำพระพุทธมนต์ แล้วนำมาวางไว้บนเบาะข้างเครื่องบายศรี ในตอนนี้มีการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ พระท่านอนุโมทนาแล้วลากกลับ ต่อจากนั้นก็เอาเด็กไปประกอบพิธีลงเปล ก็เป็นอันเสร็จพิธี
  • พิธีทอดกฐิน

พิธีทอดกฐิน คือการจัดหาผ้าไตรจีวรไปถวายพระภิกษุสงฆ์ จัดเป็นการทำบุญยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ที่วัดหนึ่งมีการรับผ้ากฐิน ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และกำหนดการทอดผ้ากฐินก็ทำได้ระหว่างวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คือชั่วระยะเวลา 1 เดือน ผู้ที่จะทำการทอดกฐิน ต้องไปจองกฐินที่วัดหนึ่งวัดใดเสียก่อน โดยไปกราบเรียนท่านเจ้าอาวาสว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐินที่วัดของท่าน เมื่อท่านยินยอมแล้วก็เขียนประกาศปิดไว้ ณ วัดนั้นเพื่อให้รู้ทั่วกัน คนอื่นจะมาจองซ้ำ หรือทอดซ้ำไม่ได้ ถ้าเป็นวัดหลวง ผู้ที่จะทอดกฐินจะต้องทำหนังสือต่อสังฆการีกรมศาสนา ของเป็นกฐินพระราชทาน ครั้นคำอนุญาตตกไปแล้วจึงจะจองได้ ทั้งนี้เป็นเพราะวัดหลวงนั้นเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชทานมาทอดให้ เว้นไว้แต่ผู้ใดจะขอพระราชทานทอดแทนพระองค์ท่านเสียเท่านั้น เมื่อได้กำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็มีการเตรียมผ้ากฐิน มีเครื่องไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ถ้าประกอบกอบเป็นพิธีใหญ่ก็มีการตั้งองค์พระกฐินฉลองกันอย่างครึกครื้น เวลาไปทอดก็จัดขบวนแห่แหนกันไปยังวัดนั้น ทางเจ้าอาวาสก็ประชุมสงฆ์ในพระอุโบสถ เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธานกล่าวนโม 3 จบ แล้วหันมาทางพระสงฆ์กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคี คือ ร่วมกันหลายคนก็เอาด้ายสายสิญจน์ผู้โยงไปถึงทุกคนโดยทั่วหน้ากล่าวนำว่าคำถวาย เมื่อครบ 3 จบแล้ว พระสงฆ์จะรับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้ากฐิน แก่ภิกษุสงฆ์ผู้อาวุโสแล้วที่ประชุมสงฆ์จะตกลงมอบให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้รับไปครอง ต่อจากนั้นก็มีการถวายเครื่องบริขารอื่น ๆ เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาเจ้าภาพกรวดน้ำแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น