วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ลักษณะของอำนาจอธิปไตยและองค์ประกอบของรัฐ

แนวความคิดว่าด้วยรัฐ 
                รัฐ หรือประเทศเป็นหน่วยการเมืองที่สำคัญที่สุด และเป็นส่งที่มีบทบาทอย่างมากในการเมืองสมัยใหม่ ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายว่า แว่นแคว้น บ้านเมือง ประเทศ มาจากคำบาลี รฏฐ หรือ ราษฎร ในภาษาสันสกฤต
องค์ประกอบของรัฐ
            รัฐหนึ่งๆ จะมีความเป็นรัฐที่สมบูรณ์ได้ จะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ประการ คือ
1.             ประชาชน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ กล่าวคือ รัฐทุกรัฐจะต้องมีประชาชนอาศัยอยู่จึงจะเป็นรัฐขึ้นมาได้ ความเจริญก้าวหน้าหรือตกต่ำเสื่อมโทรมของรัฐนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับประชาชนของรัฐนั้นๆ นั่นเอง  ดังนั้นทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่มีค่า การที่ประชาชนมีคุณภาพสูง คือ สุขภาพอนามัยดี มีความรู้สูง มีระเบียบวินัยดี ก็จะสามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ถึงแม้ทรัพยากรจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยก็ตาม      ทั้งนี้จำนวนประชากรก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นมหาอำนาจ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน มีปะชากรกว่าพันล้านคน แต่บางครั้งมหาอำนาจก็อาจจะมีประชากรจำนวนน้อย แต่มีคุณภาพสูง และการที่เราจะวางกฎเกณฑ์ที่แน่นอนได้ว่ารัฐหนึ่งๆ ควรมีประชาสักเท่าไร คงจะกระทำไม่ได้ เพียงแต่อนุมานไว้ว่ามีจำนวนประชากรเพียงพอที่สามารถปกครองตัวเองได้ก็เป็นรัฐได้
2.             ดินแดนที่แน่นอน     ดินแดนที่แน่นอนนี้มีพื้นดิน น่านน้ำทั้งอาณาเขตในแม่น้ำ ทะเลสาบ และอาณาเขตใต้ทะเล นอกจากนี้ยังรวมถึงขอบเขตของท้องฟ้าที่อยู่เหนืออาณาเขตของพื้นดินและท้องน้ำทั้งหมดอีกด้วย    อาณาเขตบนพื้นดินนั้นตามหลักการสากลแล้วมักยึดเอาพรมแดนธรรมชาติ เช่น เทือกเขา แม่น้ำ เป็นเกณฑ์ สำหรับในที่ราบก็จะมีการปักเขตแดนอย่างชัดเจน  ส่วนอาณาเขตในท้องทะเลนั้น เดิมทีตามหลักสากลจะยึดถือเอาว่าอาณาเขตของรัฐที่เรียกว่าเขตอธิปไตยนั้น นับจากชายฝั่งออกไปในทะเล 3 ไมล์ ซึ่งจัดว่าปลอดภัยจากวิถีของกระสุนปืนใหญ่ของเรือรบสมัยก่อน ต่อมาเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอาวุธปืนใหญ่ยิงได้ไกลกว่า 3 ไมล์ ทำให้มีการกำหนดอาณาเขตทางท้องทะเลใหม่เป็น 12 ไมล์ แต่ปัจจุบันแทบไม่มีความหมาย เพราะเทคโนโลยีทางอาวุธประเภทขีปนาวุธสามารถยิงไปได้ไกลมาก จึงได้เปลี่ยนไปพิจารณาทางเศรษฐกิจแทน เนื่องจากท้องทะเลนั้นเป็นแหล่งที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ และแหล่งแร่ อาทิ น้ำมัน ทองคำ ยูเรเนียมต่อมาได้มีการตกลงกันทำอนุสัญญา (Convention) พ.ศ.2535 ในการประชุมนานาชาติ ที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ แต่กว่าจะมีผลบังคับใช้ โดยการที่มีประเทศให้สัตยาบันครบ 60 ประเทศ ก็เป็นปี พ.ศ.2537 หลักการสำคัญ คือ ทุกประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับท้องทะเลจะมีอาณาเขตที่มีอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่นับจากชายฝั่งออกไป 12 ไมล์ ส่วนเขตเศรษฐกิจจำเพาะ คือ เขตที่รัฐเจ้าของจะมีสิทธิอธิปไตยออกไป 200 ไมล์ เรียกว่า เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ถือเป็นเขตแดนที่รัฐเจ้าของมีสิทธิในทรัพยากรทั้งมวลในทะเล บรรดาเรือของรัฐอื่นสามารถที่จะแล่นผ่านได้ แต่ต้องไม่ทำการจับสัตว์น้ำหรือทำกิจกรรมทางธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในทางปฏิบัติการวัดพื้นที่แบบนี้ ย่อมทำให้มีอาณาเขตที่ทับกันอยู่เป็นส่วนใหญ่
3.             รัฐบาล คือ องค์การหรือสถาบันทางการเมือง ที่สามารถจัดระเบียบ ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ และรักษาความสงบในการอยู่ร่วมกันของประชาชน ทั้งยังเป็นตัวแทนของประชาชน ทำการทุกอย่างในนามของประชาชนกลุ่มนั้นในอาณาเขตนั่นเอง    การที่มีรัฐบาลขึ้นได้นั้น จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชน รัฐบาลจะยืนยงอยู่ได้ก็ด้วยการสนองความต้องการของประชาชน สามารถรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ให้ความยุติธรรมต่อประชาชน ป้องกันการรุกรานจากประเทศอื่น โดยประชาชนมีหน้าที่เสียภาษีอากรและปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐบาลที่บัญญัติออกมา
4. อำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือ การแสดงออกซึ่งเอกราชของประเทศหนึ่งๆ ที่สามารถจะเป็นตัวของตัวเองในการกำหนดนโยบายของตนเองและนำนโยบายของตนออกมาบังคับใช้ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องตกอยู่ใต้คำบัญชาของประเทศอื่นใด
         อำนาจอธิปไตยเป็นแนวคิดทางกฎหมาย ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นอำนาจอธิปไตยภายในและอำนาจอธิปไตยภายนอก กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยภายในเป็นอำนาจที่ออกกฎหมายและรักษากฎหมาย ตลอดจนบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนอำนาจอธิปไตยภายนอก คือ อำนาจที่ประเทศจะดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ รวมทั้งอำนาจที่จะประกาศสงครามและทำสนธิสัญญาสันติภาพ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า เอกราช ก็คือ อำนาจอธิปไตยภายนอกนั่นเอง
         หากถามว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของใครปัจจุบันดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ระบุไว้ชัดเจนใน มาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล มีการแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจออกเป็น 3 หน่วยงาน คือ
         อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการออกกฎหมายไว้ใช้ในการปกครองประเทศ ตามหลักโดยทั่วไปแล้ว คือ รัฐสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประชาชนได้เลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนในการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน และเพื่อนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของประชาชนตลอดจนความมั่นคงของประเทศ ประกอบกับมีวุฒิสภาคอยพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้คำแนะนำในเรื่องของการออกกฎหมายต่างๆ
          อำนาจบริหาร คือ อำนาจซึ่งคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งหลายใช้ในการบริหาร ปกครองประเทศ ตามกฎหมายซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราออกมา
         อำนาจตุลาการ หรือ อำนาจศาล มีอำนาจตัดสินคดีขัดแย้งต่างๆ ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับรัฐตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราออกมาก หรือในบางกรณีของประเทศ ยังสามารถพิจารณาได้ด้วยว่ากฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราออกมาขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศหรือไม่
                สรุปคำจำกัดความของรัฐสมัยใหม่ คือชุมชนของมนุษย์จำนวนหนึ่งที่ครอบครองดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน รวมกันอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลมิได้อยู่ในอำนาจควบคุมของรัฐอื่นๆ สามารถที่จะปกครอง และดำเนินกิจการภายในของรัฐตลอดจนทำการติดต่อกับรัฐอื่นๆ ได้โดยอิสระ







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น